ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่สร้างน้ำดี เพื่อการช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน และทำลายสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย พร้อมทั้งกรองของเสียต่างๆ ให้เป็นของดีมีประโยชน์นำกลับมาใช้ในร่างกาย ทั้งนี้ ตับที่สุขภาพดีจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากตับได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบอาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรม ดังนี้

การรับประทานอาหารพวกปิ้งย่าง อาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้ร่างกายมีไขมันส่วนเกินมากเกินไป จนทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดการสะสมที่ตับจนนำไปสู่โรคไขมันพอกตับ ส่งผลให้ตับอักเสบเรื้อรัง จนนำไปสู่ภาวะตับแข็งในที่สุด

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะเสี่ยงเป็นโรคตับมากกว่า เนื่องจากแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มจะทำให้มีไขมันสะสมในตับเกิดการอักเสบ และเกิดพังผืดในตับอาจก่อให้เกิดภาวะตับแข็ง

การรับประทานยาและอาหารเสริม เมื่อร่างกายได้รับยาบางชนิดในปริมาณสูง หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ตับไม่สามารถทำลายได้ทัน ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อตับจนกลายเป็นภาวะตับวาย

การรับประทานน้ำตาลมากเกินไป มักพบในเครื่องดื่มที่มีรสหวานจะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมอยู่ในตับ หากมีระดับน้ำตาลสูงทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับจนกลายเป็นโรคไขมันพอกตับได้

ภาวะอ้วนลงพุง เมื่อมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป จนทำให้เกิดการสะสมของไขมันที่ตับ นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับทำให้ตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง

การสูบบุหรี่ จะส่งผลต่อการทำงานของตับผ่านการสูดดมควันบุหรี่ และผ่านสารนิโคตินที่มีสารอนุมูลอิสระปะปนอยู่ ซึ่งจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้น
_____________________________
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ แผนกอายุรกรรม ชั้น 2
โทร. 02-339-0000 ต่อ 2051-2052