โรคพิษสุนัขบ้า
หรือที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันว่า โรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบี่ส์ไวรัส (Rabies Virus) มีรูปร่างคล้ายกระสุนปืน เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์แล้วจะเดินทางไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมอง ที่สำคัญเมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกรายแต่โรคนี้ป้องกันได้ และสามารถทำให้หมดไปจากคนและสัตว์เลี้ยง ในหลายประเทศยังมีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ที่ควบคุมโรคในสุนัขไม่ได้ ในปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ.2006) กลุ่มสหวิชาชีพทั่วโรคได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรเพื่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า (Global Alliance for Rabies Control) ซึ่งต่อมาได้มีการกำหนดให้มีวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกขึ้นในเดือนกันยายน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวต่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงสุนัขและป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศร่วมสนับสนุน พร้อมใจกันกำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก
ไม่ได้เกิดจากสุนัขเพียงเท่านั้น!!!!!
ชื่อของโรคทำให้เข้าใจกันผิดคิดว่าโรคนี้เกิดกับสุนัขเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วโรคนี้เกิดกับสัตว์เลือดอุ่นด้วย โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น แมว ชะนี ลิง กระรอก กระแต หนู ค้างคาว แม้แต่สัตว์เศรษฐกิจอย่าง วัว ควาย ม้า สุกร พบในตัวที่มีประวัติเคยถูกสุนัขบ้ากัดมาก่อน หรือสัตว์ป่าในเมืองไทยพบว่าสุนัขเป็นตัวแพร่เชื้อที่สำคัญมากที่สุดกว่า95% ของผู้เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากสุนัข รองมาคือแมว
การติดต่อของเชื้อไวรัส
สุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแพร่เชื้อได้ทางน้ำลาย เพราะเชื้อจะออกมาในน้ำลายเป็นระยะตั้งแต่ 1 – 7 วันก่อนแสดงอาการจนกระทั่งตาย
1.คนเราจะติดเชื้อนี้ก็ต่อเมื่อ ถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้กัดหรือข่วน
2. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้เลียหรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วนหรือ เยื่อบุเมือกบุตา จมูก ปาก
(ถ้าน้ำลายถูกผิวหนังปกติ ไม่มีรอยข่วนหรือบาดแผล ไม่มีโอกาสติดโรค)
3.การติดต่อโดยการหายใจ มีโอกาสน้อยมาก ยกเว้นมีจำนวนไวรัสในอากาศเป็นจำนวนมาก เช่น ในถ้ำค้างคาว
4.การติดต่อโดยการกินเกิดขึ้นได้ยาก ไม่เคยมีรายงานตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับการติดต่อจากคนไปสู่คน ในธรรมชาติก็ไม่เคยมีรายงานเช่นกัน
ระยะฟักตัวของโรค
หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่เชื้อเข้าร่างกายจนกระทั่งเกิดอาการบางรายอาจนานเกิน 1 ปี บางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน แต่โดยเฉลี่ย 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
1.จำนวนเชื้อที่เข้าไป (บาดแผลใหญ่ ลึกหรือมีหลายแผล มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าไปได้มาก)
2.ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป (ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อก็จะเดินทางไปถึงสมองได้เร็วหรืออยู่ในที่มีปลายประสาทมากเช่น มือหรือเท้า เชื้อก็จะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย)
3.อายุคนที่ถูกกัด (เด็กและคนชราจะมีความต้านทานของโรคต่ำกว่าคนหนุ่มสาว)
4.สายพันธุ์ของเชื้อ ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่า จะมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์จากสุนัข
!!!!!เมื่อถูกกัดควรทำอย่างไร!!!!!
ถ้าถูกสุนัขบ้ากัด หรือสงสัยว่าบ้ากัด ข่วน หรือเลียตามบาดแผล ให้รีบปฏิบัติดังนี้
1.รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ เพราะจะทำให้เชื้อโรคต่างๆ ที่บริเวณนั้นหลุดออกจากแผลไปตามน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หรือ
เชื้อโรคอื่นๆ แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีอาจใช้แอลกอฮอล์ 70%หรือทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ แทน
2.ต้องจดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัดรวมทั้งติดตามสืบหาเจ้าของเพื่อซักถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษ สุนัขบ้า ที่มาของสัตว์และสังเกตอาการสัตว์ที่กัด 10 วัน (สุนัขคอกเดียวกัน พันธุ์เดียวกัน สีเดียวกัน ลักษณะคล้ายคลึงกัน อาจจำผิดตัวได้)
3.ไปพบแพทย์เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้องถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้
ในปัจจุบันวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ใช้ในประเทศไทยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
1.วัคซีนไข่ไก่ฟักชนิดบริสุทธิ์ (Purified Chick Embryo Cell Vaccine: PCECV)คือวัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อในไข่ไก่
2.วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงบริสุทธิ์ (Purified Vero Cell Rabies Vaccine: PVRV)คือวัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อภายในวีโรเซลล์ (Vero Cells)
3.วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงบริสุทธิ์ชนิดโครมาโทกราฟี (Chromatographically Purified vero cell Rabies Vaccine: CPRV) วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อภายในวีโรเซลล์ (Vero Cells) และผ่านกรรมวิธีโครมาโทกราฟี เพื่อสกัดออกมาเป็นวัคซีน
การใช้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า มี 2 แบบ ดังนี้
ฉีดเพื่อป้องกันก่อนได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า ผู้ซึ่งสมควรได้รับวัคซีนนี้ได้แก่ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่ต้องทำงานและอยู่ใกล้ชิดสัตว์
ป่า ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ปฏิบัติการที่ต้องสัมผัสเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อ เช่น บุรุษไปรษณีย์ สัตว์แพทย์ ครูฝึกสอนสัตว์เลี้ยง หรือผู้ดูแลสัตว์
ฉีดเพื่อป้องกันเมื่อต้องสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า แพทย์จะพิจารณาให้รับวัคซีนนี้เมื่อถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ซึ่งจะต้องได้รับวัคซีนเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนพิษสุนัขบ้า
วัคซีนพิษสุนัขบ้ามีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับการใช้ยา หรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับวัคซีนจะไม่มีอาการข้างเคียง หรือหากมีก็จะเกิดขึ้นไม่รุนแรง ที่มักพบบ่อย คือ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ บริเวณที่ฉีดวัคซีนมีอาการบวมแดงหรือรู้สึกปวดเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ และข้อต่อคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีอาการเหนื่อย หรืออ่อนแรงมากผิดปกติ
อ้างอิง 1. http://r36.ddc.moph.go.th/r36/content/index/1
2. https://www.pobpad.com/